top of page
Writer's pictureนันทวุฒิ อัครสันตติกุล

ปฏิจจสมุปบาท ที่ยิ่งกว่าปฏิจจสมุปบาท มี ๒๓ อาการ)๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอา

ปฏิจจสมุปบาท ที่ยิ่งกว่าปฏิจจสมุปบาท มี ๒๓ อาการ)๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย สำหรับบุคคลผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ มิใช่สำหรับบุคคลผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีแก่บุคคล ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ ซึ่งอะไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีแก่บุคคลผู้รู้อยู่เห็นอยู่ว่า “รูป คืออย่างนี้ ๆ, เหตุให้เกิดรูป คืออย่างนี้ ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งรูป คืออย่างนี้ๆ;” และว่า “เวทนา คืออย่างนี้ ๆ, เหตุให้เกิดเวทนา คืออย่างนี้ ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งเวทนา คืออย่างนี้ ๆ”; และว่า “สัญญา คืออย่างนี้ ๆ, เหตุให้เกิดสัญญา คืออย่างนี้ ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งสัญญา คืออย่างนี้ ๆ”; และว่า “สังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ๆ, เหตุให้เกิดสังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ ได้แห่งสังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ ๆ”; และว่า “วิญญาณ คืออย่างนี้ ๆ, เหตุให้เกิดวิญญาณคืออย่างนี้ ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งวิญญาณ คืออย่างนี้ ๆ”; ดังนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีแก่บุคคลผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ๆ แล. (๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย มีอยู่, ญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะนั้นย่อมมี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวญาณแม้นั้นว่าเป็นญาณมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่ไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของญาณในความสิ้นไป ? คำตอบพึงมีว่า “วิมุตติ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของญาณในความสิ้นไป”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้วิมุตติ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิมุตติ ? คำตอบ พึงมีว่า “วิราคะ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิมุตติ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้วิราคะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิราคะ ? คำตอบ พึงมีว่า “นิพพิทา คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิราคะ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้นิพพิทา ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๕) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนิพพิทา ? คำตอบ พึงมีว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนิพพิทา”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๖) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของยถาภูตญาณทัสสนะ ? คำตอบ พึงมีว่า “สมาธิ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของยถาภูตญาณทัสสนะ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่าแม้สมาธิ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๗) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสมาธิ ? คำตอบ พึงมีว่า “สุข คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสมาธิ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้สุข ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๘) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสุข ? คำตอบ พึงมีว่า “ปัสสัทธิ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสุข”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ปัสสัทธิ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๙) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปัสสัทธิ ? คำตอบ พึงมีว่า “ปีติ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปัสสัทธิ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ปีติ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๐) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปีติ ? คำตอบ พึงมีว่า “ปราโมทย์ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปีติ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ปราโมทย์ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปราโมทย์ ? คำตอบ พึงมีว่า “สัทธา คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปราโมทย์”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้สัทธา ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสัทธา ? คำตอบ พึงมีว่า “ทุกข์ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสัทธา”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ทุกข์ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของทุกข์ ? คำตอบ พึงมีว่า “ชาติ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของทุกข์”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ชาติ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของชาติ ? คำตอบ พึงมีว่า “ภพ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของชาติ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ภพ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๕) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของภพ ? คำตอบ พึงมีว่า “อุปาทาน คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของภพ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้อุปาทาน ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๖) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของอุปาทาน ? คำตอบ พึงมีว่า “ตัณหา คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของอุปาทาน”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ตัณหา ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๗) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของตัณหา ? คำตอบ พึงมีว่า “เวทนา คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของตัณหา”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้เวทนา ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๘) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของเวทนา ? คำตอบ พึงมีว่า “ผัสสะ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของเวทนา”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้ผัสสะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๑๙) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของผัสสะ ? คำตอบ พึงมีว่า “สฬายตนะ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของผัสสะ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้สฬายตนะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๒๐) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสฬายตนะ ? คำตอบ พึงมีว่า “นามรูป คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสฬายตนะ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้นามรูป ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๒๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนามรูป ? คำตอบ พึงมีว่า “วิญญาณ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนามรูป”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้วิญญาณ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๒๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิญญาณ ? คำตอบ พึงมีว่า “สังขารทั้งหลาย คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิญญาณ”. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า แม้สังขารทั้งหลาย ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย, หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่. (๒๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสังขารทั้งหลาย ? คำตอบ พึงมีว่า “อวิชชา คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสังขารทั้งหลาย”.

[เมื่อนับความสิ้นอาสวะเข้าด้วย ก็เป็น ๒๔ อย่าง ]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล สังขารทั้งหลาย ชื่อว่ามีอวิชชา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; วิญญาณ ชื่อว่ามีสังขาร เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; นามรูป ชื่อว่ามีวิญญาณ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สฬายตนะ ชื่อว่ามีนามรูป เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ผัสสะ ชื่อว่ามีสฬายตนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; เวทนา ชื่อว่ามีผัสสะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ตัณหา ชื่อว่ามีเวทนา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; อุปาทาน ชื่อว่ามีตัณหา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ภพ ชื่อว่ามีอุปาทาน เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ชาติ ชื่อว่ามีภพ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ทุกข์ ชื่อว่ามีชาติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สัทธา ชื่อว่ามีทุกข์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ปราโมทย์ ชื่อว่ามีสัทธา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ปีติ ชื่อว่ามีปราโมทย์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ปัสสัทธิ ชื่อว่ามีปีติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สุข ชื่อว่ามีปัสสัทธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สมาธิ ชื่อว่ามีสุข เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่ามีสมาธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; นิพพิทา ชื่อว่ามียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; วิราคะ ชื่อว่ามีนิพพิทา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; วิมุตติ ชื่อว่ามีวิราคะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ญาณในความสิ้นไป ชื่อว่ามีวิมุตติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนัก ๆ ตกลงบนภูเขา, น้ำฝนนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมทำซอกเขา ซอกผา และลำห้วยทั้งหลายให้เต็ม; ครั้นซอกเขา ซอกผา และลำห้วยทั้งหลาย เต็มแล้ว ย่อมทำบึงน้อยทั้งหลายให้เต็ม; บึงน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำบึงใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม; บึงใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำน้อยทั้งหลายให้เต็ม; แม่น้ำน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม; แม่น้ำใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำมหาสมุทรให้เต็ม, นี้ฉันใด; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันเดียวกันนั้นแล คือ :- สังขารทั้งหลาย ชื่อว่ามีอวิชชา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; วิญญาณ ชื่อว่ามีสังขาร เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; นามรูป ชื่อว่ามีวิญญาณ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สฬายตนะ ชื่อว่ามีนามรูป เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ผัสสะ ชื่อว่ามีสฬายตนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; เวทนา ชื่อว่ามีผัสสะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ตัณหา ชื่อว่ามีเวทนา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; อุปาทาน ชื่อว่ามีตัณหา เข้าไปตั้งอาศัย; ภพ ชื่อว่ามีอุปาทาน เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ชาติ ชื่อว่ามีภพ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ทุกข์ ชื่อว่ามีชาติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สัทธา ชื่อว่ามีทุกข์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ปราโมทย์ ชื่อว่ามีสัทธา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ปีติ ชื่อว่ามีปราโมทย์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ปัสสัทธิ ชื่อว่ามีปีติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สุข ชื่อว่ามีปัสสัทธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; สมาธิ ชื่อว่ามีสุข เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่ามีสมาธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; นิพพิทา ชื่อว่ามียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; วิราคะ ชื่อว่ามีนิพพิทา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; วิมุตติ ชื่อว่ามีวิราคะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย; ญาณในความสิ้นไป ชื่อว่ามีวิมุตติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย, ดังนี้ แล.

๑. สูตรที่ ๓ ทสพลวรรค นิทานสังยุตต์ นิทาน.สํ. ๑๖/๓๕/๖๘, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน. พุทธวจน ชุดห้าเล่มจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๖๑๕- ๖๒๒ by ท่านพุทธทาสอินทปัญโญภิกขุ

1 view0 comments

Recent Posts

See All

พุทธ

พุทธ

Comments


bottom of page