top of page
Writer's pictureนันทวุฒิ อัครสันตติกุล

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้หลักธรรม หรือว่าได้หลักจิตหลักใจมา ท่านไม่ใช่ว่าได้มาแบบเลื่อนลอย ได้มาแ

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้หลักธรรม หรือว่าได้หลักจิตหลักใจมา ท่านไม่ใช่ว่าได้มาแบบเลื่อนลอย ได้มาแ


พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้หลักธรรม หรือว่าได้หลักจิตหลักใจมา ท่านไม่ใช่ว่าได้มาแบบเลื่อนลอย ได้มาแบบไม่ได้คิดไม่ได้เข้าใจ ได้มาแบบลอยๆ ได้มาแบบง่ายๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ก่อนที่ท่านจะได้มา ท่านต้องบังคับคือพยายามบังคับใจให้อยู่กับกรรมฐาน กรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่ง หรือว่ากรรมฐานลมหายใจเข้า-หายใจออก อย่างนี้ ให้มีสติกับลมหายใจเข้า-ออก สติสัมปชัญญะหรือเอาสติกำกับใจ ใจที่นึกคิดนั่นแหละเอาเข้ามาจับตัวนั้นแหละ ตัวนึกคิดนั่นแหละว่าเป็นตัวเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ

ในเมื่อเราเอาสติมาจับตัวนั้นแล้วใจของเราก็จะเข้าสู่ความสงบ มันจะไม่คิดมันจะนิ่ง เมื่อจิตเข้าสู่ความสงบเมื่อจิตนิ่ง ก่อนที่มันจะนิ่งหรือว่าสติจะจับจุดนั้นได้ มันไม่ใช่ของง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่พวกเราตั้งใจว่าจะให้มันสงบ แต่ถ้าหากว่าพวกเราไม่ได้ใส่ใจมันจะเข้าไม่ได้ พูดอย่างนั้นได้ ถ้าหากว่าเรามีความพยายามอยู่ มีความมุ่งมั่นอยู่ว่าเราจะต้องทำจิตให้สงบให้ได้ในครั้งนี้ กำหนดพยายามบังคับเข้าสู่กรรมฐานที่พวกเราตั้งใจเอาไว้ จะกำหนดลมหายใจเข้าพุท-หายใจออกโธ หรือว่าขาก้าวเดินพุทโธ เดินนานที่สุดไม่ต้องนั่ง

เราเดินย่ำอยู่ในโลกวัฏสงสารมันนานสักเท่าไหร่ เราเดินเพียงแค่นี้จะว่านานได้อย่างไร เรานั่งพยายามนั่งบริกรรมพุทโธๆพุทโธๆพุทโธๆ ให้ถี่ในขณะจิตที่มันคิดไม่ให้มันส่งออกไปข้างนอก บริกรรมภาวนาเอาสติบังคับใจให้อยู่กับจุดใดจุดหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง

ถ้ามันยังมีการเล็ดลอดออกไปอยู่ มันอยากจะออกไปอยู่ หรือมันไม่อยู่ ให้พิจารณาร่างกาย ให้ดูกระดูก อย่าให้มันไปที่อื่น ให้ดูโครงกระดูกของเรานั่นแหละ ถึงมันจะปรุงยังไงก็ให้มันอยู่ในโครงกระดูก เอาสติดูโครงกระดูก กะโหลกศีรษะของเราเป็นอย่างไร เป็นหยักๆ เป็นเหมือนกับฟัน จากนั้นก็มีฟัน มีจมูกเป็นโครงกระดูกทั้งนั้น มีคาง มีขากรรไกร มีฟัน มีฟันบน ฟันล่าง ฟันล่างกับขากรรไกร

จากนั้นก็มาที่คอ ที่คอกระดูกเป็นข้อๆ ที่คอ จากนั้นก็มาแถบไหปลาร้า มาที่แขนทั้งสองข้างซ้ายขวา มาถึงข้อศอกมีแขนออกมา ปล้องแขนส่วนล่างเป็นสองซี่ จากนั้นก็เป็นข้อมือ จากนั้นก็เป็นนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้วเป็นกระดูกทั้งนั้นอยู่ในนี้ใช่หรือไม่

อันนี้พวกเราก็คงจะไม่ปฏิเสธ ว่าร่างกายของเราเป็นโครงกระดูกอยู่ในนี้ ที่พวกเรายืนเดินนั่งนอนเรานอนเฝ้าโครงกระดูก พอโครงกระดูกยืนเรานอนเฝ้าโครงกระดูกตัวเอง แต่ว่าใจของเราทั้งนั้นที่อยู่ในร่างคือความรู้สึกคือใจที่เฝ้าโครงกระดูก กำหนดโครงกระดูกตั้งแต่ศีรษะจนถึงฝ่าเท้าแล้วก็ดูจากฝ่าเท้าขึ้นมาศีรษะ กลับไปกลับมา กลับมากลับไป

เราจะไปกำหนดว่าพิจารณากี่เที่ยวกี่ครั้งกี่รอบ ถ้าหากว่าใจของเรามันยังอันนั้นอยู่ก็พิจารณา พิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณาเข้าไปให้ละเอียด การพิจารณานี้อย่าพิจารณาแบบเร็วนะ พิจารณาแบบช้าๆ กำหนดดู กำหนดช้าๆ ให้ดูร่างกายให้ดูกระดูก ไม่ให้เห็นอย่างอื่น ไม่ให้เห็นร่างกายส่วนอื่นให้เห็นแต่กระดูกเท่านั้น ตั้งแต่กะโหลกศีรษะจนถึงฝ่าเท้า

จากนั้นก็เราเห็นกระดูกส่วนไหนในร่างกายของเราเห็นชัดในความรู้สึกของเรา เราเห็นกะโหลกศีรษะของเรา เราเอาใจของเราคือความรู้สึกของเรามาไว้ที่กะโหลกศีรษะของเรา เห็นกะโหลกศีรษะของเราว่าเออ!มนุษย์ของเรามีกะโหลกศีรษะเป็นอย่างนี้ๆ เราก็มีกะโหลกอย่างเขา เขาก็มีกะโหลกอย่างเรา ไม่แพ้กัน มนุษย์ของเรามีโครงสร้างคือกระดูกนี่แหละ อันนี้เอาใจจ่ออยู่ตรงนั้น ไม่ต้องคิดไปทางอื่น กำหนดอยู่จุดนั้นจุดเดียวนี่แหละ

อันนี้คือใช้การพิจารณาเสียก่อน จึงกำหนดปัญญาอบรมสมาธิ อย่างที่องค์หลวงตาท่านพูด ในวิธีการปฏิบัติสำหรับพวกเรา

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก

จากพระธรรมเทศนา “สอนวินัยพระบวชใหม่”

แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐

0 views0 comments

Recent Posts

See All

พุทธ

พุทธ

コメント


bottom of page