ศัพทมูล
หลักฐานในคัมภีร์
ในพระไตรปิฎก
ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนิพพานธาตุ 2 ประเภท[4] คือ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานโดยที่อินทรีย์ 5 ยังคงอยู่ จึงยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เมื่อประสบกับประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานทั้งดับภพและเวทนาได้สิ้นเชิงแล้ว
ในพระวินัยปิฎก ปริวาร สมุฏฐานสีสสังเขป ระบุว่า อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา (สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่าเป็นอนัตตา)[5] นิพพานก็อยู่ใน อริยสัจ 4 ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจข้อ 3 ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกเล่ม 31 ระบุว่าอริยสัจ 4 ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ดังนี้ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ . . . นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ. (ขุ.ปฏิ. 31/546/450) แปลว่า: "สัจจะทั้ง 4 ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว ( คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน ) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา . . . นิโรธมีความหมายว่าดับ ( ทุกข์ ) ก็มีความหมายว่า เป็นอนัตตา " ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" และในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตมีระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อว่า "หมายรวมถึงนิพพานด้วย" นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" ในเกวัฏฏสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ได้กล่าวถึงนิพพานว่าเป็น "ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ อุปาทยรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปย่อมดับ ไม่มีเหลือในธรรมชาติ ดังนี้ฯ" ( ที.สี.14/350 ) พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเพียงว่า นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก สำหรับพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้วนั้น พระพุทธองค์ไม่ตรัสยืนยันถึงความมีอยู่หรือความดับสูญ พระองค์ตรัสแต่เพียงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ทั้งเทวดาและมนุษย์จะไม่สามารถเห็นพระองค์อีกต่อไป "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต" ( ที.สี.14/90 ) ในอรรถกถา ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ยังมีข้อความแสดงสภาวะของนิพพานอีกหลายแห่ง เช่นในปฏิสัมภิทามรรค มีอธิบายว่า นิพฺพานธมฺโม อตฺตสฺเสว อภาวโต อตฺตสุญฺโญ "ธรรมคือนิพพาน ว่างจากอัตตา เพราะไม่มีอัตตา" (ขุ.ป.อ.2/287) นอกจากนี้ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสะ พยายามอธิบายให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของผู้ได้ชื่อว่าบรรลุนิพพาน ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีอัตตา และนิพพานก็มิใช่สิ่งที่จะต้องมีอัตตาถึงจะมีอยู่ได้ ดังที่พระพุทธโฆสะกล่าวว่า "นิพพานมีอยู่ แต่ไม่มีผู้เข้าถึงนิพพาน มรรคามีอยู่ แต่ปราศจากผู้ดำเนินไป" ( วิสุทฺธิ.3/101 ) ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนบุคคลใด ๆ ที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด แล้วบรรลุนิพพาน เมื่อปราศจาก "ตัวตน" ของผู้เข้าถึงนิพพาน นิพพานก็ย่อมไม่ใช่อัตตาไปด้วย นิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก ในพาหิยสูตร ความว่า "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ ( สัจจะ 4 ) รู้แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นแล้วจากรูปและอรูป จากความสุขและความทุกข์..." ( ขุ.ขุ.อ.25/50 ) ในปกรณ์วิเสส พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานว่า ปทมจฺจุตฺ มจฺจนฺตํ อสงฺขตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตามเหสโย "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ตรัสถึงสภาวะธรรมชาติหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่จุติ พ้นจากขันธ์ 5 ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใดๆ เลย หาสภาวะอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือพระนิพพาน" ในคัมภีร์มิลินทปัญหา พระนาคเสนเถระทูลแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ที่ทรงถามว่า ถ้านิพพานไม่มีที่ตั้งอาศัย นิพพานก็ย่อมไม่มี โดยกราบทูลว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร โอกาสอันเป็นที่ตั้งของนิพพานหามีไม่ แต่นิพพานนั้นมีอยู่ พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมทำให้แจ้งนิพพาน ด้วยการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย มหาบพิตร เหมือนดั่งว่าชื่อว่าไฟย่อมมีอยู่ แต่โอกาสอันเป็นที่ตั้งของไฟนั้นหามีไม่ เมื่อบุคคลเอาไม้สองอันมาขัดสีกันก็ย่อมได้ไฟขึ้นมาฉันใด มหาบพิตร นิพพานก็มีอยู่ฉันนั้นนั่นแล โอกาสอันเป็นที่ตั้งของนิพพานนั้นไม่มี ( แต่ ) พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมทำนิพพานให้แจ้งด้วยการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย..." ( มิลินฺท.336 ) การถกเถียงเรื่องสภาวะของนิพพาน อนึ่ง การถกเถียงเรื่องสภาวะของนิพพาน มีมานานเป็นพันปีแล้ว ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มที่มีความเชื่อไว้สองกลุ่มดังนี้ 1. กลุ่มที่เชื่อว่า นิพพานมีสภาวะเป็น นิจจัง สุขขัง อัตตา กลุ่มนี้เชื่อว่า โดยมีแนวคิดว่าสภาวะของนิพพานนั้นต้องตรงข้ามกับกฎไตรลักษณ์ ( อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) โดยเฉพาะข้อความใน อนัตลักขณสูตร ที่กล่าวว่า สิ่งไดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ และอนัตตา โดยทรงยกเอาขันธ์ 5 มาเป็นตัวอย่างในคุณลักษณะแห่ง สภาวะที่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ดังนั้นเมื่อนิพพาน อยู่นอกเหนือจากกฎไตรลักษณ์ นิพพานจึงมีคุณลักษณะที่เที่ยงแท้ แน่นอน และเป็นบรมสุข ดังนั้นนิพพานจะเป็นอนัตตาไม่ได้ เพราะถ้านิพพานเป็นอนัตตานิพพานก็จะมีสภาวะเดียวกับขันธ์ ๕ แต่นิพพานไม่ใช่ขันธ์ 5 นิพพานนั้นเป็นธรรมขันธ์ นิพพานจึงไม่สามารถเป็นอนัตตา... กลุ่มนี้แปล อนัตตา ว่า ไม่ใช่ตัวตน (ที่แท้จริง) คืออัตตาที่มีขันธ์ห้าทั้งหลายที่คนมักยึดติดนั้นนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งตัวตนที่แท้จริงนั้นมีอยู่ เป็นอสังขตธรรม เป็นอัตตาโดยวิมุติ 2. กลุ่มที่เชื่อว่า นิพพาน มีสภาวะ เป็นอนัตตา เป็นสุขสูงสุดคือความสงบ ไม่ใช่สุขอย่างโลก ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่การมา ไม่ใช่การไป ไม่สถานที่ คือความหยุดโดยสมบูรณ์สิ้นสุดความเปลี่ยนแปลงจึงคงอยู่ในสภาพเดิมหรือ เป็น ตถตา ( ความเป็นเช่นนั้นเอง ) ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ เป็นสุญญตา ( ความว่าง ) ธรรมธาตุของนิพพานนั้นจึงเป็นธาตุว่าง กลุ่มนี้แปล อนัตตา ว่า ไม่มีตัวตน คือ สภาพแห่งสังขตธรรมทั้งหลาย เมื่อส่วนประกอบทั้งหลายหายไปย่อมสูญสิ้น นิพพานเป็นปรมัตถ์ นิพพานเป็นปรมัตถ์ ว่าโดยความแตกต่างแห่งอาการ มี 3 อย่าง คือ สุญญตะ 1 อนิมิตตะ 1 อัปปณิหิตะ 1 อาการที่ชื่อว่า สุญญตะ เพราะเป็นสภาพสูญจากสังขารทั้งปวง อาการที่ชื่อว่า อนิมิตตะ เพราะไม่มีนิมิต คือ สังขารทั้งปวง อาการที่ชื่อว่า อัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ สังขารทั้งปวง อ้างอิง เชิงอรรถ
↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 635
↑ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (30 ตุลาคม 2547). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์:นิพพาน". 84000.org. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
↑ Collins 2010, pp. 63-64.
บรรณานุกรม
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4
Collins, Steven (1998), Nirvana and Other Buddhist Felicities, Cambridge University Press
Collins, Steven (2010), Nirvana: Concept, Imagery, Narrative, Cambridge University Press